การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

โรคมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง  แต่ความโชคดีคือ เป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถคลำตรวจเบื้องต้นด้วยตนเองได้ ซึ่งถ้าตรวจพบไวตั้งแต่ระยะต้นๆ การรักษาก็จะให้ผลที่ดีมาก

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม สามารถทำเองได้ง่าย ๆ แบ่งการตรวจตามช่วงอายุ ได้ดังนี้

หากเป็นกลุ่มประชากรปกติ ( ความเสี่ยงต่ำ ) 

  1. อายุ 20-30 ปี ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน
  2. อายุ 30-40 ปี ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และควรเข้ารับ การตรวจร่างกายโดยแพทย์ และอาจได้รับการตรวจเต้านมทางรังสี เช่น การทำแมมโมแกรมและอุลตร้าซาวด์เต้านม 
  3. อายุ 40 ปีขึ้นไป นอกจากการตรวจด้วยตนเองแล้ว ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจร่างกาย และ ตรวจเต้านมทางรังสี โดยเฉพาะแมมโมแกรมและอุลตร้าซาวด์ เป็นประจำทุกปี ( ช่วงอายุ 40-45 ปี เป็นช่วงอายุที่ตรวจพบมะเร็งเต้านมมากที่สุด )
  4. โดยทั่วไปแล้ว แม้จะเป็นผู้สูงอายุ 60-70 ปี (วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน) ก็ควรตรวจเต้านมเองทุกเดือน และเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกปี สม่ำเสมอ

กรณีที่ต้องระมัดระวัง คือ หากท่านอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีความเสี่ยง ที่พบบ่อยคือ

  1. มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม เช่น มีประวัติสมาชิกในครอบครัว เป็นมะเร็ง โดยเฉพาะ มะเร็งเต้านม รังไข่, มดลูก 
  2. มีประวัติได้รับยาฮอร์โมนเสริมหรือทดแทน 
  3. เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณหน้าอกหรือเคยตรวจพบโรคของเต้านมมาก่อน

กลุ่มเสี่ยงนี้ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งก่อนเกณฑ์อายุปกติ และร่วมปรึกษาแพทย์ เพื่อหาแนวทางการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง

คำแนะนำ สำหรับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ควรตรวจช่วงหลังประจำเดือนหมดไปสัก 1 สัปดาห์ เพราะเต้านมจะไม่คัดตึง ไม่เจ็บ ตรวจได้ง่ายขึ้น และอาจตรวจช่วงเวลาอาบน้ำ เพราะสามารถ ตรวจหน้ากระจก และสังเกตสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ได้ดี

5 อาการแสดงของ มะเร็งเต้านม มีดังต่อไปนี้

  1. พบก้อนที่ผิดปกติ บริเวณหน้าอก
  2. พบรอยแดง แผล และ/หรือผื่นบริเวณผิวหนัง หัวนม และลานหัวนม 
  3. พบก้อนผิดปกติ บริเวณรักแร้และเหนือกระดูกไหปลาร้า
  4. ขนาดเต้านมเปลี่ยนไป หรือผิดรูปทรง
  5. พบหัวนมผิดปกติ เช่น มีน้ำ สารคัดหลั่งไหลออกมา มีรอยแผล บุ๋มดึงรั้ง 

หากพบสิ่งผิดปกติจากการตรวจ หรือ สังเกตเห็นด้วยตนเอง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป

บทความโดย อ.นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ (หมอบัว) 

FB Page: #เพื่อสองเต้าที่เท่ากันbydrbua

Youtube: DoctorBua

IG: DoctorBua

Line Official: @buabua

เรียบเรียงจากโพสต์ https://m.facebook.com/fightforbreast/photos/a.1635588506659026/2701394516745081/?type=3